นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ภายหลังบอร์ดค่าจ้างสรุปการปรับขึ้นค่าแรงที่อัตรา 5-22 บาท ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.64-7.14% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอไป
ทั้งนี้ มีความกังวลว่าจะส่งผล กระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรและเอสเอ็มอีเป็นหลัก ดังนั้น กกร.จึง จะส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ เพื่อทบทวนก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เม.ย. 2561
“จากการสำรวจของคณะอนุกรรมการกับผลที่ออกมาไม่ตรงกันถึง 92% หลายจังหวัดบอกว่าสูงไป 38 จังหวัดบอกว่าไม่เห็นด้วยกับผลที่ออกมา ส่วน 28 จังหวัดเห็นด้วย ขณะที่ 11 จังหวัด ไม่ออกความเห็น โดยเห็นได้ชัดว่า 35 จังหวัดไม่ได้ขอปรับขึ้น แต่กลับได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง” นายกลินท์ กล่าว
ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการ
ให้รัฐบาลทบทวนค่าจ้างใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ เพราะหากขึ้นตามมติคณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ภาคการเกษตร ภาคบริการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจำนวนมาก
ขณะที่นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ต้องการให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากกลไกการทำงาน ล้มเหลว โดยพบว่าอนุกรรมการฯ บางจังหวัด ไม่มีตัวแทนลูกจ้าง ทำให้ค่าจ้างที่เสนอเข้ามาส่วนกลางมาจากนายจ้างฝ่ายเดียว และบอร์ดค่าจ้างพิจารณาค่าจ้างโดยไม่มีการนำข้อมูลจากอนุกรรมการฯ มาพิจารณา
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่รับ ไม่ได้คือการลดภาษีให้กลุ่มทุน 1.5 เท่า และลดเงินสมทบประกันสังคม 1% จึงอยากให้ รมว.แรงงาน หรือปลัดกระทรวงแรงงาน ทบทวนการปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศส่วนหนึ่ง มาจากที่รัฐบาลไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยนับตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา และแม้
ตัวเลขการขึ้นค่าแรงจะไม่ถือว่าสูงมากนัก แต่ก็จะเป็นผลดี ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตัวเลขของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ยืนยันว่าตรงกับของจังหวัด จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร และจะยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคงมีผลกระทบเงินเฟ้อไม่มาก และเป็นการปรับที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยการปรับไม่เท่ากันทุกจังหวัดก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะแต่ละจังหวัดมีพื้นฐานเศรษฐกิจต่างกัน โครงสร้างธุรกิจต่างกัน