กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ตามคาด หวังใช้ดันเศรษฐกิจขยายตัวต่อ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี เพื่อใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนสนับสนุนให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย แต่ก็อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ การคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจาก กนง.ประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมามีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นและขยายตัวได้สูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยประมาณการเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าขยายตัว 3.9% เพิ่มจากประมาณการเมื่อเดือน ก.ย. ที่คาดว่าปีนี้และปีหน้า จะขยายตัว 3.8%
“เศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าที่เคยประเมิน เพราะส่งออกและท่องเที่ยวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตแข็งแกร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปจากรายได้ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร หนี้ครัวเรือนยังสูง การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นต่อเนื่องตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าบ้าง” นายจาตุรงค์ กล่าว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับดอกเบี้ยต่างประเทศจะห่างกันมากขึ้น เพราะในต่างประเทศดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีหน้า แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับเดิมเพื่อดูแลเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการโยกเงินจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดพันธบัตรมากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนในพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สูงขึ้น ซึ่งในขณะนี้ก็มีการขายหุ้นไปซื้อพันธบัตรประมาณเดือนละ 1 หมื่นล้านบาทต่อเนื่องมานานระยะหนึ่ง

ทางด้านค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าสวนทางกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 0.25% เป็น 1.5% เมื่อเร็วๆ นี้ แต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าสวนทางขึ้นไปเป็นเพราะไทยยังเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อีกทั้งการลงทุนไม่ขยายตัว ไม่มีการนำเข้าเครื่องจักรและปัจจัยการผลิตเป็นเวลานาน ทำให้เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดเงินไทยจะแยกออกจากตลาดต่างประเทศชั่วคราว โดยมีปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก และสภาพคล่องในตลาดเงินกับตลาดทุนก็จะแตกต่างกัน การที่ส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศมีมากขึ้น ส่งผลต่อตลาดทุนก่อน ส่วนสภาพคล่องในระบบธนาคารซึ่งเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยของประชาชนยังไม่มีผลกระทบ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ย

“สิ่งที่จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้หรือดอกเบี้ยเงินฝากขยับขึ้น คือสภาพคล่องในตลาดเงินจะหดหายในกรณีที่สินเชื่อมีการขยายตัวสูงขึ้นมาก นั่นหมายถึงการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนจะต้องเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ธนาคารต้องระดมเงินฝากมาไว้เพื่อปล่อยกู้ ซึ่งจะเริ่มเห็นแนวโน้มดอกเบี้ยที่ชัดเจนเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี 2561 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นก็ต่อเมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว” นายเชาว์ กล่าว

Related Posts

Scroll to Top