นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกดำเนินมาตรการในเชิงป้องกันอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบ GPS Tracking ติดตามพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถ การใช้ความเร็ว, ชั่วโมงการทำงาน ควบคุมกำกับดูแลผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งที่ส่วนกลางและทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งยังเปิดให้สังคมสาธารณะมีส่วนร่วมติดตามรถโดยสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่น DLT GPS ซึ่งสามารถตรวจสอบความเร็ว ชั่วโมงการทำงาน รู้พิกัด รู้จุดจอด ร้องเรียนพฤติกรรมเสี่ยงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก โดยศูนย์ฯ GPS ตรวจสอบพบความผิดปกติของข้อมูลการเดินรถ จึงประสานพื้นที่สกัดรถต้องสงสัยเพื่อขอตรวจสอบ GPS พบว่ามีการใช้อุปกรณ์ตัดสัญญาณ GPS ทำให้ข้อมูล พิกัด ตำแหน่งเคลื่อนที่ของรถไม่สามารถส่งข้อมูลมายังศูนย์ฯ GPS ได้ จึงดำเนินการลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ฐานกระทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการ เปรียบเทียบปรับในอัตราโทษสูงสุด และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถพนักงานขับรถทันที ส่วนผู้ประกอบการขนส่งสั่งพักใช้รถ พร้อมสั่งการให้ศูนย์ฯ GPS ทุกจังหวัด ตรวจสอบประวัติการเดินรถและรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ซึ่งหากพบว่าผู้ประกอบการขนส่งรายใดมีพฤติกรรมรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์ฯ GPS รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบผู้ให้บริการระบบ GPS (Vendor) หากพบเจตนาให้บริการไม่มีคุณภาพหรือเอื้อให้เกิดช่องว่างในการกระทำผิดกฎหมาย แจ้งความดำเนินคดีถึงที่สุดเช่นเดียวกัน และอาจพิจารณายกเลิกการรับรองการเป็นผู้ให้บริการ GPS หรือยกเลิกรุ่น GPS รวมถึงกรณีระบบ GPS Tracking ขัดข้องไม่พบสัญญาณเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ให้บริการ GPS (Vendor) ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน และมีความผิดตามกฎหมายปรับวันละ 5,000 บาทต่อคัน จนกว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบันทึกข้อมูลความผิดของรถติดตั้ง GPS ที่เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ฯ GPS ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถทั้งสิ้น 281,538 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2561) พบว่าแนวโน้มการกระทำความผิดลดลง โดยเฉพาะการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงกรณีพนักงานขับรถไม่รูดบัตรยืนยันตัวตนก่อนออกรถให้บริการ หรือการปฏิบัติหน้าที่เกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกมีมาตรการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงพื้นที่เข้าสกัดระงับพฤติกรรมเสี่ยงและดำเนินการตามกฎหมายสูงสุดเด็ดขาดในทุกกรณีความผิด พร้อมประสานผู้ประกอบการขนส่งให้กำกับดูแลพนักงานขับรถ สำหรับในปัจจุบันมีจำนวนผู้ให้บริการ GPS ที่ได้รับการรับรองจากรมการขนส่งทางบกทั้งสิ้น 111 ราย และมีจำนวนรุ่น GPS ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกทั้งสิ้น 301 รุ่น ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะและควบคุมพฤติกรรมพนักงานขับรถแบบออนไลน์ Real-time ผ่านศูนย์ฯ GPS กลางที่กรมการขนส่งทางบก ศูนย์ฯ GPS ส่วนภูมิภาค กรมการขนส่งทางบกเข้มงวดเฝ้าระวังและติดตามการเดินรถโดยสารสาธารณะทุกคัน และควบคุมพฤติกรรมด้วยมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังกับผู้กระทำความผิดทุกรายทุกกรณี