ครบรอบ 25 ปี แผนพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไทยประกาศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว ระหว่างชาติสมาชิก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ 25 ปี ของความสำเร็จในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ว่า การดำเนินงานตามแผนงานของ GMS ในรอบ 25 ปี ก่อให้เกิดความสำเร็จในหลายด้านร่วมกัน ทั้งเกิดโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค เกิดการค้าการลงทุน รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มภูมิภาค GMS ได้เป็นอย่างดี มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการขับเคลื่อนแผน โดยมาจากการสนับสนุนของเอดีบีถึงกว่า 8,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อถนนกว่า 10,000 กิโลเมตร สายส่งไฟฟ้า 2,000 กิโลเมตร และมีทางรถไฟกว่า 500 กิโลเมตร

พร้อมทั้งมีการบรรลุเป้าหมายทางการค้ากว่า 4.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ มีการลงทุนเกิดขึ้น 2.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และเกิดนักท่องเที่ยวจำนวนรวมกว่า 60 ล้านคน

ซึ่งขณะนี้กลุ่ม GMS กำลังขับเคลื่อนตามกรอบยุทธศาสตร์แผนงานการลงทุนในภูมิภาคปี 2561- 2565 หรือ RIF(อาร์ไอเอฟ) 2565 ฉบับล่าสุด ที่มีแผนงานและโครงการกว่าร้อยละ 84 เป็นการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในกลุ่ม GMS จำนวน 226 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 66,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับเชื่อมโยงในภูมิภาคแบบไร้รอยต่อ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2561 ซึ่งในแผนยังรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปยังพื้นที่ชายแดน 10 เขตพัฒนา ที่จะส่งเสริมศักยภาพการเชื่อมโยงกลุ่ม GMS ทั้งการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 และอาคารด่านพรมแดน ถนนเชื่อมต่อ//ก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) //สะพานข้ามคลองพรมโหด ชายแดนไทย-กัมพูชา //สถานีขนส่งสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า และจุดพักรถในเมืองหลักและชายแดน รวมถึงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง และยังมองไปถึงการขนส่งระบบรางที่จะเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคได้อย่างมีศักยภาพ

สำหรับการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต่างๆ ในกลุ่มGMS การระดมเงินทุนยังเป็นจุดอ่อนสำคัญ ที่จะต้องร่วมกันสร้างกลไกการระดมทุนแบบใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ อาทิ จัดตั้งกองทุน GMS Venture Capital รวมถึงดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนเข้าร่วมในโครงการสำคัญๆ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาและแก้ไขข้อจำกัดด้านการค้า การลงทุน ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชนข้ามแดน บูรณาการตลาด กระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดควาสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการเป็นระเบียงเศรษฐกิจ

รวมทั้งพัฒนาแรงงานไร้ทักษะและแรงงานระดับกลางสู่แรงงานระดับสูงและจัดโครงสร้างสวัสดิการสังคมให้เหมาะสมและเท่าเทียม

ด้านนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา การรวมตัวภายในของกลุ่ม GMS มีเข้มแข็งมากขึ้น มีการรวมตัวของสมาชิกที่มีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพ การค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงของประชาชนกับประชาชนกันเอง และที่น่าสนใจคือแนวโน้มการเติบโตของ GMS โดยเฉพาะโครงการต่างๆ การลงทุน การพัฒนาความเชื่อมโยงของประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ถือเป็นโอกาสที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาครั้งใหม่ของความร่วมมือประเทศใน GMS ที่มีประชากรกว่า 300-400 ล้านคน

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของGMS ยิ่งมีการเชื่อมโยงครบทุกด้านจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นในเรื่องการค้าขาย ซึ่งสมัยก่อนจะข้ามส่งสินต้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีความยากลำบาก แต่ปัจจุบันมีสะพานเชื่อมหลายเส้นทาง อาทิ หนองคาย มุกดาหาร เชียงราย นครพนม ซึ่งทุกเส้นทางได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในถ้องถิ่นดีขึ้น และที่น่าสนใจคือการเชื่อมโยงอินโด-ไซนา เข้ากับตอนใต้ของจีน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรปรับให้มีการเชื่อมโยงแบบไร้ พรมแดนมากขึ้น ควรพัฒนาเรื่องด่านศุลกากร กระบวนการส่งสินค้าข้ามแดน การลงทุนข้ามประเทศ ที่สำคัญคือการพัฒนาบุคคลากร ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวใน GMS ดั้งนั้นจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้ไทยควรจะต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไป

Related Posts

Scroll to Top