คลัง”เผยกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จ่อเข้า สนช. วาระ 2 และ 3 หลังได้ข้อสรุปหลักการ ระบุนิยามที่ดิน เพื่อการเกษตรต้องชัดเจน ป้องกันการหลีกเลี่ยง ผู้ปล่อยให้ที่ดินรกร้าง

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้สรุปหลักการร่างกฎหมายภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ได้เปิดรับฟังความ คิดเห็นครั้งสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
การพิจาณาร่างกฎหมายดังกล่าว มีรายละเอียดบางประการที่จำเป็นต้องกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง ภาษี โดยเฉพาะคำนิยามของที่ดินเพื่อการ เกษตร ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำที่สุด จากประเภทที่ดิน ทั้ง 4 ประเภทตามกฎหมายนี้ ขณะที่ ที่ดินที่ปล่อยไว้ใม่ได้ใช้ประโยชน์ มีอัตราภาษีสูงสุด สำหรับการใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงเกษตรกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของเจ้าของที่ดินที่ทิ้งที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า
“กระทรวงเกษตร ต้องเป็นผู้กำหนดว่า การใช้ประโยชน์ในที่ดินระดับไหน ถือว่าใช้ประโยชน์ที่ดินในประเภทเกษตรกรรม ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เช่น จะปลูกต้นไม้กี่ต้นในที่ดินแปลงนั้น จึงจะถือว่าเป็นการประกอบเกษตรกรรม”
ทั้งนี้ จะไม่นำรายได้จากการเกษตรบนพื้นที่แปลงนั้นมาเป็นฐานการคิดว่าที่ดินแปลงนั้นประกอบเกษตรกรรมหรือไม่ เนื่องจากฐานการคิดค่อนข้างยากอาจมีการคิดราคาที่ขายเกินจริง “แม้ว่าจะเป็นที่ดินกลางเมืองที่มีราคาสูงมาก แต่หากเจ้าของที่ดิน นำต้นกล้วยมาปลูกไว้เต็มพื้นที่ อาจเข้าข่ายการเป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้”
ปลายปีก่อน กมธ.ของ สนช. ได้สรุปผล การพิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผ่านวาระหนึ่งมาแล้ว โดยเสนอให้ปรับลดเพดานภาษีตามกฎหมายลงมาจากร่างเดิมอีก 40% ทำให้อัตราภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีอัตราเพดาน 0.15% ของราคาประเมินที่ดิน โดยกรมธนารักษ์, ที่อยู่อาศัยอัตราเพดาน 0.3%, อื่นๆ นอกจากเกษตรและที่อยู่อาศัย (เช่น เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม) อัตราเพดาน 1.2% ,ที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ เพดาน 1.2% และจะถูกปรับเพิ่ม 0.3%ในทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3%
ตามร่างกฎหมายภาษีดังกล่าว ให้เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ในการคำนวณภาษีในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เดียวกันไม่เกิน 50 ล้านบาท กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์ในวันที่ 1 ม.ค.ของ ปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษี ไม่เกิน 20 ล้านบาท
กรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 ม.ค.ของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้กำหนดการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายนี้ เป็นแบบอัตราก้าวหน้า เป็นขั้นบันไดตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในลักษณะเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าต่ำ เสียภาษีน้อยกว่าเจ้าของที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงกว่า
ระยะสองปีแรกของการประกาศใช้กฎหมายจะกำหนดบัญชีอัตราภาษีที่ใช้จริง อยู่ในบัญชีแนบท้ายของตัวกฎหมายนี้สำหรับปีที่สามเป็นต้นไป ให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บจริง

Related Posts

Scroll to Top