ตัวการ์ตูน จะทำเงินได้อย่างไร?

หากเอ่ยชื่อถึงตัวการ์ตูน อย่างโดราเอมอน , หุ่นยนต์กันดั้ม , ฮัลโหลคิตตี้ , อุลตร้าแมน , กัปตันซึบาสะ ตัวการ์ตูนเหล่านี้ก็คงจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่ถ้าถามว่าตัวละครเหล่านี้จะทำเงินได้อย่างไร หรือเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง หลายๆคนก็คงตอบว่าเอาไปฉายในทีวีไง แต่จริงๆแล้วมันจะเอาไปต่อยอดได้มากขนาดไหนวันนี้เรามีคำตอบ!

ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับผู้บริหารของบริษัทที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านลิขสิทธ์ตัวการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ได้คำตอบว่า มูลค่าที่แท้จริงของตัวละครมันมีมหาศาล ในการนำไปต่อยอดนอกเหนือจากการฉายภาพยนตร์การ์ตูนทางทีวี หรือโรงภาพยนตร์

เนื่องจากตัวการ์ตูนหนึ่งตัว หรือหนึ่งเรื่อง ถ้าได้รับความนิยมจนติดตลาดไปแล้ว สามารถนำคาแรคเตอร์เหล่าไปนั้นไปโฆษณาผลิตภัณฑ์ ออกอากาศต่อทั้งทีวี หน้าร้านสะดวกซื้อ หรือจะเป็นแสตมป์น่ารักๆให้น่าเก็นสะสมยิ่งขึ้น จนไปถึงบนรถไฟฟ้า โปรโมทกิจกรรม จนไปถึงมหกรรมแห่งชาติอย่างโอลิมปิกของเจ้าตลาดอย่างญี่ปุ่น ที่นำเอาคาแรคเตอร์มาริโอ้ โดราเอมอน กัปตันซึบาสะมาเป็นตัวชูโรง การนำไปทำของเล่นก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำเงินได้มหาศาล อย่างตุ๊กตาฮีโร่สไปเดอร์แมน ทำเงินได้ 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเจ้าตัวเหลืองอย่างมินเนียนขายได้กว่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเป็นของเล่นก็ไม่พอ เพราะยังมีการนำคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนเหล่านี้ ถูกนำไปทำเป็นเกมขายกันอีกทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ หรือจะเป็นสติกเกอร์ในแอพพลิเคชั่นดังที่เราใช้ๆกันอยู่ทุกวันก็มีให้เห็นกันเต็มไปหมด เมื่ออยู่ในดิจิทอลแล้วก็ยังเข้ามาสอดผสานในชีวิตจริงด้วย.. ถ้าหากใครได้เดินห้างดังในกรุงเทพก็จะได้เห็น ธุรกิจป๊อปอัพสโตร์ของตัวการ์ตูนโจรสลัดชื่อดังอย่างวันพีช , ไลน์สโตรของเจ้าหมีบราวน์ ที่ขายทุกอย่างที่มีลายการ์ตูน ผ้าเช็ดหน้า ปากกา กระดาษ เสื้อผ้า แทบจะทุกอย่างที่ต้องการจริงๆ จนถูกพัฒนาไปถึงคาเฟ่ เช่น ฮัลโหลคิตตี้ คาเฟ่ ร้านกาแฟชาลีบราวน์ บลาๆๆ เรียกได้ว่าตัวการ์ตูนหนึ่งตัวนำไปสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตได้เป็นสิบๆช่องทาง

แล้วกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคาแร็กเตอร์จะอยู่ที่กลุ่มไหนละ… คำตอบแรกที่คิดคือเด็ก ต้องคู่กับการ์ตูนและของเล่นต่างๆอยู่แล้ว แต่จริงๆเป้าหมายของธุรกิจอยู่ในทุกกลุ่ม เพราะการ์ตูนของสมัยคุณพ่อคุณแม่ อย่างอุลตร้าแมนก็มีอายุมากว่า 50 ปีแล้วซึ่งยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ ไอ้มดแดง โดราเอมอน โนบิตะ ชิซูกะ หรืออย่างสตาร์วอร์-หุ่นยนต์กันดั้ม ที่ยกระดับมาจนไม่ใช่ของเล่นของเด็กๆอีกต่อไป แต่แฟนคลับเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงแทน

ของไทยเราเองก็มีคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนอย่าง “น้องมะม่วง” ที่ดังไกลถึงต่างประเทศ หรือ “เดอะสลัด” ที่ทางญี่ปุ่นถึงขั้นมาขอซื้อไปเลย การ์ตูนไทยไม่ธรรมดาแต่ถูกสนับสนุนผลักดันได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้นเอง

ตัวการ์ตูนสร้างรายได้ให้กับผู้คนได้มากมายหลายช่องทางครับ ถ้าใครมีงานอดิเรกที่ชอบการวาดๆเขียนๆแล้วละก็ นี่อาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ในยุคเศรษฐกิจ 4.0 ให้กับคุณก็ได้นะครับ ตัวการ์ตูนไม่ใช่แค่สร้างรายได้ แต่พ่อลูกนั่งดูการ์ตูนด้วยกัน อาจจะทำให้คนในครอบครัวได้มีเรื่องคุยกันอีกด้วยก็ได้นะครับ

By.. Kamonthon Komarathat

Related Posts

Scroll to Top