นายกสั่งคลังใช้มาตรการภาษีจูงใจเอกชนดูแลผู้สูงอายุ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาความเหมาะสมและความเป็น ไปได้ในการกำหนดมาตรการส่งเสริมและ จูงใจให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการต่างๆ ที่เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ การเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย เช่น การให้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชน ที่ประกอบการเกี่ยวกับการจัดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมการประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ได้รายงานให้ ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทย โดยระบุว่าโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุที่สมบูรณ์คือมีผู้สูงอายุ สูงกว่า 30% ในอัตราที่เร็วมากและจะกลายเป็น สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2570
ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2559 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของไทยใกล้ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่าเด็กเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเกิดลดลง อย่างมาก โดยสถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเทียบกับ โครงสร้างประชากรของอาเซียนที่มีผู้สูงอายุ 61 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 639 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่นๆ
กระทรวงฯจึงมีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรมีการวางนโยบายและหามาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างสุขอนามัยและสร้างรูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ เพิ่มการเข้าถึงบริการ
การใช้ยาอย่างเหมาะสมในผู้สูงอายุ การใช้ยาและการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดผลข้างเคียงจากยา ส่งเสริมการ ออกกำลังกายและกิจกรรมทางสังคม จัดบริการสาธารณสุขที่เอื้อต่อการให้บริการผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น
2.สนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ตนคุ้นชิน สนับสนุนให้ครอบครัวทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเครือข่ายในชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกดูแลผู้สูงอายุผู้สูงอายุ ยกระดับสถานดูแลผู้สูงอายุในกรณีที่ต้องไปอาศัยนอกที่อยู่อาศัยเดิมให้ได้มาตรฐาน
3.สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิต อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี โดยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุในการปกป้องตนเองจากภัยรอบด้าน ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือ/กลไก/เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี ลดแนวคิดเชิงลบของผู้สูงอายุ รณรงค์ให้ ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ
4.ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ สร้างมโนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับนิยามผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงานได้ ส่งเสริมให้มีการปรับแก้ระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงาน ผู้สูงอายุ รวมทั้งการขยายอายุเกษียณของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้ทางการเงิน การออม ปรับปรุงระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
และ 5.จัดทำแผนช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยให้ อปท.เตรียมแผนรับมือ ป้องกัน และรับมือภัยพิบัติสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การอพยพ ช่วยเหลือ และทำเป็นคู่มือในการเตรียมพร้อมรับมือ ภัยพิบัติสำหรับผู้สูงอายุ โดยแต่ละท้องถิ่น ต้องมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการซักซ้อม แผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นประจำในเวลาที่เหมาะสม

Related Posts

Scroll to Top