ปตท.-รฟท. ทดสอบใช้ไบโอดีเซล บี10 ในรถไฟ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 ในเครื่องยนต์รถไฟเส้นทางบ้านแหลม-แม่กลอง หวังเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทดสอบใช้นำ้มันไบโอดีเซล B 10 ในการเดินรถไฟดีเซลราง เส้นทางสายบ้านแหลม-แม่กลอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร จากปัจจุบันที่ใช้ไบโอดีเซล B7 (มีส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลสัดส่วนร้อยละ7 ) โดยจะมีการทดสอบใช้ไบโอดีเซล B 10 (มีส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลสัดส่วนร้อยละ10) จำนวน 36,000 ลิตร ในระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง กรกฎาคม 2561) เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้น้ำมันไบโอดีเซลมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ที่มีเป้าหมายหลักในการลดอุบัติเหตุและลดการก่อมลภาวะ ทั้งนี้การรถไฟฯ และ ปตท. จะร่วมกันเก็บตัวอย่างน้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น ในทุกๆ 12,500 กิโลเมตร เพื่อวิเคราะห์ถึงการพัฒนาคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรายงานผลการทดสอบให้กับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงานรับทราบ และหากผลการทดสอบได้ผลดี ก็มีแผนจะขยายการใช้ B10 ในเส้นทางอื่น ๆ รวมถึงขยายการใช้ B10 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ และมีโอกาสที่จะให้รถไฟดีเซลรางปรับมาใช้ B10 ทั้งหมดในอนาคต

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท.ได้สนองนโยบายรัฐในการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดเก็บน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านลิตร (เทียบเท่าน้ำมันปาล์มดิบ 35,000 ตัน)​ จากเดิมที่เคยเก็บ 23 ล้านลิตร รวมทั้งสิ้น 63 ล้านลิตร เพื่อช่วยพยุงระดับราคาปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นในช่วงน้ำมันปาล์มล้นตลาด และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อีกทั้งเป็นการนำร่องเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซลภายใต้โครงการนี้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ต้นทุนน้ำมันไบโอดีเซล B10 สูงกว่า B7 อยู่ราว 8-10 สตางค์ต่อลิตร แต่จากโครงการนี้ ปตท. จะรับผิดชอบส่วนต่างราคาให้กับ รฟท. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับต้นทุนเดินรถมากนัก

ด้านนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟฯ เตรียมพิจารณาเส้นทางรถไฟที่จะปรับมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ลำดับถัดไปคือ เส้นทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยยอมรับว่าการใช้ B10 จะทำให้รฟท. มีปริมาณการใช้เชื้อเพลิงต่อกิโลเมตรเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการหารือกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีหัวรถจักร ที่ช่วยให้การใช้เชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือช่วยให้ใช้เชื้อเพลิงลดน้อยลงเพื่อรักษาระดับต้นทุนการเดินรถไม่ให้สูงเกินไป ทั้งนี้ในแต่ละปี รฟท. มีต้นทุนเชื้อเพลิงประมาณ 88 ล้านบาท ต่อปี หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและศึกษาการเพิ่มส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 ในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ20 หรือ B20 ซึ่งเบื้องต้นสามารถใช้การได้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องอุณหภูมิที่ต่ำอาจส่งผลให้น้ำมันเป็นไข โดยคาดว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ และอาจนำร่องทดลองใช้จริงกับรถยนต์บางชนิดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่มีอุณหภูมิต่ำเป็นข้อจำกัด ขณะเดียวกันจะมีการขยายการส่งเสริมให้รถยนต์ทั่วไปใช้ B10 ได้ไม่เกินสิ้นปีนี้เช่นกัน ทั้งนี้น้ำมันไบโอดีเซล ทุก ๆ 1 ลิตร จะส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มกับการเกษตรประมาณ 5-9 เท่าตัว

 

 

Related Posts

Scroll to Top