อัตราละเมิดลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ของไทยในปี 60 ลดลงมาอยู่ที่ 66%

บีเอสเอ เผยผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก ประจำปี 60 พบไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 66 % ลดลงจากปี 58 ที่มีอัตรา 69 % แต่ยังสูงกว่าภูมิภาค คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 714 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ หรือกว่า 22,848 ล้านบาท

โดย มร. ดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ เผยว่า การลดลงของอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เป็นผลมาจากการหดตัวของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อย่างต่อเนื่องของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ เหตุการณ์มัลแวร์เรียกค่าไถ่ระดับโลกอย่าง Wannacry ที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ทำให้องค์กรธุรกิจเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ซอฟต์แวร์แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่ระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากภาพรวมทั่วโลก ที่มีการสำรวจกว่า 110 ประเทศ พบว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ของไทย ยังสูงอยู่ โดยอัตราการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์ในภาพรวม อยู่ที่ 37 % ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 46,302 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 1.48 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 39 %ในปี 58

และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อยู่ที่ร้อยละ 57 % ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16,439 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (526,048 ล้านบาท) ลดลงจากร้อยละ 61 ในปี 2558

Related Posts

Scroll to Top