“Sharing Economy” เริ่มธุรกิจทำเงินได้จากการแบ่งปัน
การแบ่งปันสิ่งของ แบ่งปันที่นั่งบนรถ แบ่งปันขนม แบ่งปันอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ มันล้วนแล้วแต่เป็นความรู้สึกดีๆ ตอนเด็กเราก็มักจะถูกสอนเสมอๆว่าให้รู้จักแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์ แล้วมันจะดีแค่ไหนถ้าการแบ่งปันที่สร้างความรู้สึกดีๆ แล้วยังเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าเป็นโมเดลธุรกิจได้อีก
ถ้าพูดถึงธุรกิจแชร์ริ่ง(ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่นะ!) คงหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น เช่น แบ่งปันที่พักอาศัยให้ผู้อื่น อย่างบริษัท Airbnb หรือแบ่งปันรถยนต์การเดินทาง อย่าง Uber , Grab ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรารู้จักกันดี ความใหญ่โตของธุรกิจคงไม่ขอบรรยายให้มากความ แต่ไม่ได้มีเท่านั้นเพราะเราสามารถแชร์ทุกสิ่งอย่างได้ รถยนต์ ห้องพัก กระเป๋าแบรนด์เนม อุปกรณ์ไอที ระยะสั้นยาวแค่ไหน ค่าบริการเท่าไหร่ มาสามารถกำหนดต่อรองกันได้
มาดูโมเดลธุรกิจของธุรกิจกันหน่อย จะได้ยินกันบ่อยๆกับชื่อ การบริโภคชนิดร่วมมือกัน(Collaborative Consumption) กับการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน ( P2P = Peer to Peer) สร้างรายได้จากทรัพย์สิน สิ่งของที่เรามีอยู่แต่เกินความจำเป็น แล้วนำไปให้บริการบนแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ต่างๆ เช่น ปกติขับรถยนต์ไปทำงานทางนี้เป็นประจำก็ชวนเพื่อนในละแวกใกล้เคียงที่มีจุดหมายใกล้ๆกันไปด้วยกัน ประหยัดกว่าเราไปอยู่แล้ว แต่มาเป็นโมเดลธุรกิจของ Uber ที่เรารู้จักกัน หรือ บ้านเราอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวมีห้องว่างไม่มีคนอยู่ เปิดไว้เฉยๆฝุ่นก็เกาะ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ก็นำมาปล่อยให้เช่า ก็เป็นโมเดลธุรกิจของ Airbnb
อ่านมาถึงตรงๆนี้มันก็น่าสนใจ ลองมาดูข้อดีแบบชัดๆของธุรกิจแชร์ริ่ง 1.การลดค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ฝั่งผู้ใช้บริการก็จะได้สินค้าหรือบริการในราคาที่ถูกลง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในราคาที่สบายกระเป๋ามากกว่า 2.ทำให้ผู้คนเห็นถึงความคุ้มค่ากันมากขึ้น ใช้ทรัพยากรได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างรถยนต์ที่เราจอดทิ้งตอนทำงาน ตอนอยู่ที่บ้าน ถ้าปล่อยเช่าตอนที่เราไม่ได้ใช้ละ เอาอุปกรณ์ของเล่นของสะสมของเราไปสร้างผลตอบแทน 3.เมื่อเกิดการแบ่งปันสังคมจะสวยงามขึ้น รถจะติดน้อยลงถ้าใช้เส้นทางร่วมกัน ไม่ต้องเสียเวลาบนถนน ไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ มีเวลาเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นการผลิตขยะต่างๆลดลง 4.สร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ ฝั่งผู้ให้บริการที่มีทรัพยากรเหลือเกินความจำเป็น ก็นำมาสร้างรายได้
แต่เมื่อมีข้อดีมันก็มีข้อเสียเช่นกัน 1.วัฒนธรรมของคนเปลี่ยนไป เกิดการบริโภคแบบชั่วคราวมากยิ่งขึ้น 2.ผู้คนหันไปเป็นผู้ประกอบการสร้างรายได้ด้วยธุรกิจตัวเองกันหมด แรงงานในตลาดหายไป 3.ธุรกิจในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบแน่นอน หากปรับตัวไม่ทัน อดีตผู้ให้บริการรายใหญ่ด้านโรงแรมอย่าง Hilton เคยเป็นเจ้าตลาดทั่วโลก แต่เมื่อมี Airbnb เข้ามาด้วยโมเดลธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนสร้างห้องพักของตัวเองเลย แต่กลับมีห้องพักหลายล้านห้องทั่วโลกที่เปิดให้บริการ สมดุลของตลาดเสียไปในอนาคตอาจขึ้นอยู่กับรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น
แล้วธุรกิจแบ่งปันแบบนี้มันมาจากไหน.. Sharing economy เป็นแนวคิวสังคมเศรษฐศาสตร์ที่เริ่มมีการพูดถึงกัน ตั้งแต่ปี 1978 ของนักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Illinois คือ Joe Spaeth และ Marcus Felson โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับ คือ สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอภายหลังจากวิกฤติการเงินโลก และ การเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อองค์ประกอบลงตัวก็ทำให้มีธุรกิจแบ่งปันเพิ่มมากขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมไหนละที่เศรษฐกิจแบ่งปันแบบนี้จะได้รับความนิยม คุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ การท่องเที่ยว (Travel) การโดยสารทางรถยนต์ รถเช่าและแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) การเงิน (Finance) จัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and video streaming) จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท (3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 5 แสนล้านบาท
ถ้าหากเราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาดหรือสตาร์ทอัพเหล่านี้ เราจะปรับตัวอย่างไร หรือสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจแชร์ริ่งเหล่านี้ได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราต้องตอบตัวเอง
โดย กมลธร โกมารทัต