คุยกับ “แอม ไชยวัฒนพงศ์” กับบทบาท “Life Coach” ศาสตร์แห่งการสื่อสารที่ช่วยให้คนบรรลุได้ทุกเป้าหมาย

คุยกับ “แอม ไชยวัฒนพงศ์” กับบทบาท “Life Coach” ศาสตร์แห่งการสื่อสารที่ช่วยให้คนบรรลุได้ทุกเป้าหมาย

“Life Coach” น่าจะเป็นหนึ่งในสายอาชีพที่คนไทยหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเป็นอาชีพที่มีสกิลการพูดให้กำลังใจ พูดบวก หา Quote สวยๆ มาใช้ ให้ข้อคิดดีๆ ก็เป็นโค้ชได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Life Coach เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะหลากหลาย เป็นศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา ตัวโค้ชจะต้องเข้าใจระบบการสื่อสารของคน ขณะเดียวกันยังต้องมีทักษะมากมายเพื่อให้ผู้รับการฝึกสอนสามารถปลดล็อกศักยภาพของตัวเอง ก่อนจะไปต่อยอดการธุรกิจ หรือเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้

ในบทความนี้ Biztalk จะพามาพูดคุยกับ แอม ไชยวัฒนพงศ์ Communication Coach at Amable ผู้ที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน ICI (International Association of Coaching Institutes), Germany เป็นคนที่ 9 ในไทย เมื่อปี 2021 ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยเพียง 10 คน เท่านั้นที่ผ่านการอบรมจากสถาบันนี้มาได้

Coaching ศาสตร์ที่ช่วยผลักดันให้คนพัฒนาตนเองได้

หากมองแบบผิวเผิน Consulting กับ Coaching จะมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นศาสตร์ที่ต้องการเห็นผลสำเร็จของงานเหมือนกัน แต่หากลงลึกไปจะพบว่ามันมีเส้นบางๆ มาแบ่งระหว่าง 2 อาชีพนี้ ซึ่ง แอม ไชยวัฒนพงศ์ นั้นเริ่มต้นจากการเป็น Consulting เพราะศึกษามาทางด้าน Business Development แต่กลับพบว่าทุกครั้งที่ให้โซลูชันกับลูกค้าไป ลูกค้ากลับไม่ทำตาม หรือ บางครั้งไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ จึงหันมาถามตัวเองว่าหรือเป็นเพราะตนเองไม่มีความสามารถมากพอจะสื่อสารให้ลูกค้าทำแล้วสำเร็จ และมองหาศาสตร์ที่จะช่วยให้คนเปลี่ยนวิธีคิดได้ด้วยตนเอง จนมาเจอศาสตร์ Coaching

คุณแอม เล่าว่า ศาสตร์ Coaching มีหลายสำนักทั่วโลก คนไทยส่วนมากเลือกเรียนหลักสูตรจากสหพันธ์การโค้ชนานาชาติ หรือ ICF (International Coaching Federation) ส่วนเราเลือกเรียนสถาบัน ICI ของเยอรมัน เพราะชื่นชอบในตัว Barney Wee ที่ได้ชื่อว่าเป็น NLP Trainer อันดับ 1 ของเอเชีย

ความยากของหลักสูตรจาก ICI คือเป็นการเรียนเก็บชั่วโมงโดยที่ไม่มีภาษาไทย Barney Wee จะสอนตั้งแต่เบสิกมากๆ เช่น NLP (Neuro Linguistic Programming) ที่สอนตั้งแต่วิธีการทำงานของสมอง ร่างกาย ระบบประสาท อารมณ์ และดูว่าคนจะมีความสามารถที่ดีขึ้นได้ทั้งหมดกี่ด้าน ซึ่งใน NLP เรียกว่า Multiple Intelligences ที่ไม่เพียงจะต้องเข้าใจด้าน IQ (Intelligence Quotient), EQ Emotional Quotient แต่ยังต้องเข้าใจเรื่อง PQ (Physical Quotient) คือการปรับร่างกาย และตัวสุดท้ายคือ SQ (Spiritual Intelligence)

ต้องเรียนตั้งแต่พื้นฐานทั้งหมดจนได้ Coaching โมเดล ซึ่ง NLP มันคือ Programming หมายความว่า อะไรก็ตามที่ทำแล้วสำเร็จเราสามารถโปรแกรมมาทำให้เราสำเร็จ มันเป็นโมเดลที่มีความลึกซึ้ง เราใช้ NLP ในการปั้นแต่งคนให้ประสบความสำเร็จ โดยจะมีขั้นตอนการตั้งคำถาม จนกว่าเขาจะตอบตัวเองได้ แก้ไขด้วยตัวเองได้ วิธีการทำงานของ Life Coach จะต่างกับ Consulting คือเราไม่ได้มีหน้าที่ให้คำตอบ ไม่ให้โซลูชัน เราเชื่อว่ามีทางออกอยู่ในตัวผู้มาปรึกษา หน้าที่เราคือช่วยกะเทาะ ซึ่งผู้เรียนจะต้องตอบคำถาม และลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง

“การทำงานกับโค้ชจริงๆ เราไม่ได้นับกันที่เวลาที่เราเจอกัน แต่เรานับกันที่เวลาที่เราไม่ได้เจอกันว่าเขามีพัฒนาการขนาดไหนเมื่อกลับมาเจอกันอีกรอบหนึ่ง”

“แอมใช้เวลาเรียนถึง 3 ปี เพราะ Barney Wee ใส่ใจทุกรายละเอียดและไม่ปล่อยผ่าน สอนทฤษฎีเสร็จจะต้องปฏิบัติในทุกโมเดล ทดลอง สอบ ฟีดแบ็ก เก็บทุกขั้นตอน ต้องส่งรายงานว่าเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเขาวิเคราะห์เราแบบละเอียดมากๆ” คุณแอม กล่าวเสริม

คุยกับ “แอม ไชยวัฒนพงศ์” กับบทบาท “Life Coach” ศาสตร์แห่งการสื่อสารที่ช่วยให้คนบรรลุได้ทุกเป้าหมาย

ทำไมศาสตร์ Coaching ถึงสำคัญกับองค์กร?

นักกีฬาต้องการโค้ชเป็นผู้ฝึกสอน ศิลปินก็ต้องการโค้ชสอนร้องเพลงสอนเต้น แล้วศาสตร์ Coaching เข้ามาช่วยองค์กรอย่างไร?

“คนเราจะมองไม่เห็นตัวเองถ้าไม่มีกระจก บางครั้งอาจจะเกิดทางตันในชีวิต Life Coach จะทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพของคน ใช้ศาสตร์ Coaching ตั้งคำถามขุดลึกจนกว่าผู้เรียนจะเห็นคุณค่า ช่วยปลดล็อกหลายๆ อย่างในชีวิต ส่วนจะไปปลดล็อกด้านธุรกิจ หรืออื่นๆ นั้นขึ้นอยู่กับผู้เรียนจะนำไปใช้ต่อ ซึ่งเราเป็นโค้ชก็มี Master Coach เพราะเราก็มีโอกาสเจอทางตันเช่นกัน”

ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มพูดถึงการ Coaching พนักงานกันมากขึ้น แต่งตั้งหัวหน้ามาเป็นโค้ชให้ทีม คอยประกบลูกน้อง ช่วยให้คำแนะนำ เพื่อให้ลูกน้องทำงานได้ดีขึ้น แต่การจะนำศาสตร์ Coaching ไปพัฒนาองค์กรให้ได้ประสิทธิผล คนในองค์กรจะต้องเข้าใจพื้นฐานของการ Coaching อย่างถ่องแท้ เพื่อถ่ายทอดความรู้กันได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะมันเป็นศาสตร์ของการสื่อสาร หากสื่อสารได้ตรงช่องก็จะทำให้ลูกน้องได้รับสารที่เราต้องการสื่อไปอย่างแท้จริง

นอกเหนือจากการสื่อสารคือการตั้งคำถาม การวิเคราะห์ว่าเราจะสื่อสารกับเขาอย่างไร เราตัดสินเขาหรือเปล่าในระหว่างที่เราคุยกับเขา ถ้าเราเข้าใจการสื่อสารที่ลึกมากพอ การไปคุยกับลูกค้า หรือการที่หัวหน้าคุยกับลูกน้อง ก็จะรู้ว่าต้องคุยกันด้วยประโยคแบบไหน ช่วยให้มีโอกาสพัฒนาองค์กรได้มากขึ้น

คุยกับ “แอม ไชยวัฒนพงศ์” กับบทบาท “Life Coach” ศาสตร์แห่งการสื่อสารที่ช่วยให้คนบรรลุได้ทุกเป้าหมาย

“7-38-55” พื้นฐานการสื่อสารที่หลายคนยังไม่เข้าใจ

คุณแอม กล่าวต่อไปว่า การสื่อสารให้ตรงช่อง การตั้งคำถามกับคู่สนทนา และการวิเคราะห์คู่สนทนา หากจะทำให้เกิดประสิทธิผลได้จริงต้องเข้าใจพื้นฐานการสื่อสารทั้ง 100% ที่แบ่งออกเป็น 7-38-55

7% คือข้อความหรือสารที่ส่งออกไป 38% คือโทนเสียง ส่วนอีก 55% คือภาษากาย หมายความว่าถ้าวันนี้เราใช้โทนเสียงที่ถูกต้อง คำพูดถูกต้อง เราจะทำให้คนรับข้อมูลไปได้เพียง 45% ซึ่งยังไม่ถึงครึ่ง และถ้าผิดทั้งภาษากาย ผิดทั้งโทนเสียง หมายความว่าคู่สนทนารับความหมายของเราไปได้เพียงแค่ 7%

การที่เราจะไปคุยกับหัวหน้า คุยกับลูกน้อง ไปขายงานลูกค้า ถ้าไม่เข้าใจเข้าใจพื้นฐานเรื่องนี้เราจะไม่มีทางรู้ว่าเราสื่อสารได้ตรงกับสิ่งที่คู่สนทนาต้องการหรือไม่

“เราเข้าใจว่าเรื่องพื้นฐานการสื่อสารเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว แต่ทุกคลาสที่ไปสอนในปีนี้ มีแค่ไม่กี่คนที่ตอบได้ ส่วนอีกเป็นร้อยกว่าคนกลับยังไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์มาก”

คุยกับ “แอม ไชยวัฒนพงศ์” กับบทบาท “Life Coach” ศาสตร์แห่งการสื่อสารที่ช่วยให้คนบรรลุได้ทุกเป้าหมาย

Pitching Coach การผสมผสานระหว่าง “Coaching และ Consulting”

นอกจากการเป็น Life Coach ที่สอนด้านการสื่อสารแล้ว คุณแอม ยังดึงศาสตร์ Coaching เข้ามาผสมกับความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจ มาทำอาชีพ Pitching Coach ช่วย Startup ปรับขั้นตอนการนำเสนอและปรับวิธีการสื่อสารไปพร้อมกัน

คุณแอม อธิบายถึงการทำงานในอาชีพ Pitching Coach ว่า “Pitching Coach คือ การสอนให้คนสื่อสารไอเดียธุรกิจได้ดีขึ้น โน้มน้าวใจคนได้มากขึ้น โดยศาสตร์ Coaching จะเข้ามาช่วยเรื่องการใช้น้ำเสียง การสบตาคน ส่วนด้าน Consulting จะเข้ามาช่วยปรับข้อมูลทางธุรกิจ โซลูชัน คุณค่าของสินค้า การบริหารเงิน”

“เราปูพื้นฐานให้ก่อนที่ผู้ประกอบการจะไปนำเสนอ ทั้งการวางเนื้อเรื่อง การเขียนสคริปต์ โทนเสียงที่ควรใช้ในการนำเสนอ คำพูดไหนที่ห้ามใช้ ระหว่างการนำเสนอต้องมีท่าทางอย่างไร ทำมือแบบไหน ต้องสบตาใคร ซึ่งเป็นการหยิบบางโมเดลของศาสตร์ Coaching มาใช้ คือมีความเป็นจิตวิทยา ขณะที่มีคำแนะนำเข้าไปด้วย”

คุณแอม ยังเล่าให้ฟังว่า ช่วงอีเวนต์ที่ผ่านมาทำ Pitching Coach ไปประมาณ 90 ทีม ใน 1 เดือน บางวันต้องเจอกับ Startup ประมาณ 14 ทีม แต่บางวันต้องเจอมากถึง 20 ทีม

เมื่อถามว่าทำได้อย่างไรเมื่อต้องเจอกับธุรกิจที่แตกต่างกันเข้ามาขอคำปรึกษาพร้อมกันๆ  คุณแอม ตอบกลับมาว่า “เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เพราะแต่ละทีมจะมีเวลาอยู่กับเราแค่ครึ่งชั่วโมง และจะมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราจะมีเฟรมเวิร์กที่คอยตรวจสอบว่าเขาตอบคำถามครบหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นไอเดียธุรกิจ นวัตกรรมที่ใช้ ธุรกิจสร้างคุณค่าอะไรบ้าง และมีผลกระทบด้านความยั่งยืนไหม”

“เราจะต้องจดทุกอย่างและให้ฟีดแบ็กกลับไปทันที ไม่เก็บเอาไว้ในสมองหลังโค้ชจบ เราจะต้องเป็นเหมือนแปรงลบกระดาน ลบทุกอย่างออก และเริ่มต้นใหม่กับทีมต่อไป ซึ่งเราถูกฝึกมาตั้งแต่ตอนเรียน Coaching ว่าเราจะต้องกลับไปจุดตั้งต้น กด Reset ได้”

คุณแอม กล่าวในตอนท้ายว่า “เราเชื่อว่าศาสตร์ Coaching จะเป็นศาสตร์ที่ AI ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ 100% เพราะมันคือการเล่นกับความรู้สึกของมนุษย์ AI อาจจะไม่ทันสังเกตว่า คู่สนทนามีอารมณ์อย่างไร โทนเสียงเปลี่ยนไปอย่างไร ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาบ้าง แต่มันยังไม่ละเอียดอ่อนเท่ากับการที่มนุษย์คุยกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นศาสตร์ Coaching จึงมีความสำคัญ และเป็นศาสตร์ที่คนควรเข้ามาเรียนเป็นพื้นฐานการสื่อสาร”

Generative AI อนาคตการศึกษาไทยยุค EdTech

Related Posts

Scroll to Top