ดีแทค ยื่นจดหมายแสดงความคิดเห็นในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อ กสทช แล้วในวันนี้ (9 เมษายน) โดยเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนแนวทางประมูลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดทุกฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภค และสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทค ไตรเน็ต ได้ยื่นจดหมายข้อเสนอพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อการประมูล 1800 MHz แก่ กสทช เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การประมูลเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภค และร่วมผลักดันนโยบาย ประเทศไทย 4.0”
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมีประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่
บริษัทฯ ขอยืนยันความเห็นเดิมว่าไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ราคาขั้นต่ำ) โดยอิงกับราคาชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อปี 2558 เนื่องจากเป็นราคาคลื่นที่ผู้เข้าร่วมการประมูลรายหนึ่งที่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ครั้งที่ผ่านมา ไล่ราคาจนสูงผิดปกติแล้วในที่สุดชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แต่ไม่สามารถที่จะชำระเงินค่าประมูลคลื่นได้ และการกำหนดราคาขั้นต่ำที่สูงเกินไป จะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ในคราวนี้จะประสบปัญหาด้านการเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในคราวก่อน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความเห็นว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำไว้สูงมากในระดับที่จะทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทั้งหมด ส่งผลให้คลื่นไม่ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มที่ ราคาคลื่นในปัจจุบันจึงควรกำหนดให้ต่ำลงเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นไปใช้ได้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม มีตัวอย่างของประเทศที่นำราคาชนะการประมูลครั้งก่อนมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำในครั้งต่อไป คือ ประเทศอินเดีย และประเทศบังคลาเทศ ทำให้การประมูลล้มเหลวไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกันนี้ในประเทศไทย
2. ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต
บริษัทฯ มีความเห็นว่าการกำหนดขนาดคลื่นความถี่จำนวน 3 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2×15 MHz ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติเนื่องจากความต้องการใช้คลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายมีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ปริมาณคลื่นความถี่และย่านความถี่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ความพร้อมทางการเงิน และแผนการให้บริการ การกำหนดใบอนุญาตขนาด 2×15 MHz จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีคลื่นความถี่เหลือจากการประมูลเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การกำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2×5 MHz นั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ (หากมี) พิจารณาการเข้าลงทุนแข่งขันในการให้บริการเนื่องจากไม่ถูกบังคับให้ประมูลคลื่นความถี่ในขนาด 2×15 MHz ที่อาจสูงเกินความจำเป็นในระยะแรก และเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีไร้สายในปัจจุบันออกแบบมาใช้กับคลื่นความถี่ขนาด 2×5 MHz เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศต่างๆ จึงกำหนดขนาดคลื่นความถี่ชุดละ 2×5 MHz ในการประมูลครั้งล่าสุด เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ บังคลาเทศ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
3. ข้อกำหนดกรณีผู้เข้าประมูลมีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต
บริษัทฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเงื่อนไขการนำคลื่นออกประมูลโดยกำหนดให้จำนวนชุดคลื่นความถี่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล หรือที่เรียกว่า เงื่อนไข N-1 เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากเพื่อให้มีคลื่นความถี่ใช้งานได้ทัดเทียมประเทศกำลังพัฒนาต่างๆทั่วโลก แต่เงื่อนไข N-1 จะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 เพราะจะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่น้อยกว่าผู้เข้าร่วมการประมูลที่พร้อมจะนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เงื่อนไข N-1 เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ใดๆมาก่อนหน้านี้ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้
4. การกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่
จากการที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2558 นั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากภาระด้านการเงินที่สูงมาก บริษัทฯ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ กสทช. ได้โปรดพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงินเกินกว่าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแบกรับไหวตามที่เห็นสมควรด้วย
บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะพิจารณาทบทวนร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz อย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภคชาวไทย และสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลต่อไป