นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวร วงศ์ รมว.คลัง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องให้อ่อนค่าลง เพื่อจะไม่ได้กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ซึ่งทำได้ส่วนหนึ่งไม่มาก เพราะปัจจุบันไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย เนื่องจากกู้ภายในประเทศเป็นหลัก เพราะมีสภาพคล่องจำนวนมาก
“การดูแลค่าเงินบาทแข็งเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหลายเครื่องมือที่ ธปท.ใช้ดูแลอยู่ แต่ในส่วนของ รมว.คลัง ก็ต้องให้หามาตรการทางการคลังช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทให้ช้าลง หรือให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะได้ไม่กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ และเร่งหามาตรการทางการคลังเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรให้ค่าบาทที่แข็งค่ากลับมาอ่อนค่าลง” นายสมชัย กล่าว
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพราะได้ดอกเบี้ยสูง ซึ่ง ธปท.ก็เข้าดูแลค่าเงินบาทโดยการรับซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐไว้เอง ซึ่งมีต้นทุนสูงเพราะต้องซื้อในราคาที่แพง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ที่ 1.50% คิดว่าเหมาะสม ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ 1.25% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินอ่อนลงบ้าง นอกจากนี้ ธปท.ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้เงินที่ไหลเข้าและไหลออกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น