โครงการ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจพลวัตของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนใน 4 เมืองหลักของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา-หาดใหญ่ ผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่ (Mobility Data) จากโทรศัพท์มือถือจำนวนมหาศาล
ความพิเศษของโปรเจกต์นี้อยู่ที่การนำข้อมูลจากภาคธุรกิจโทรคมนาคมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยทรูทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลนิรนามที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ เพื่อให้ UddC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำไปวิเคราะห์เชิงลึก เชื่อมโยงกับบริบทของเมือง และนำเสนอแนวทางพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการ UddC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก กล่าวว่า เมืองไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นระบบที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา การศึกษาเมืองในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง Mobility Data จากโทรศัพท์มือถือถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เห็นภาพการเคลื่อนที่ การกระจายตัว และการรวมกลุ่มของประชากรในแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาได้อย่างแม่นยำและเรียลไทม์
“ข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น คนส่วนใหญ่เข้างานกี่โมง เลิกงานกี่โมง มีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน แต่ที่สำคัญคือข้อมูลเหล่านี้ถูกทำให้เป็นนิรนามและอยู่ในรูปแบบภาพรวม ไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณของการใช้ข้อมูล” อดิศักดิ์ กล่าว
ประโยชน์มหาศาลของ Mobility Data ต่อการพัฒนาเมือง:
- Real Behavioral Insights: ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สะท้อนพฤติกรรมจริงของผู้คน ลดอคติและช่วยให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่
- Accurate & Real-Time Data: ข้อมูลที่มีความแม่นยำสูงและอัปเดตแบบเรียลไทม์ ทำให้เข้าใจสภาพการใช้งานเมืองในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างทันท่วงที
- Ready-to-Use for Urban Planning: สามารถนำไปใช้วางแผนและออกแบบเมืองได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิม
- Faster & Broader Data Collection: ครอบคลุมประชากรจำนวนมากและทุกพื้นที่ ทำให้เห็นภาพรวมของเมืองในระดับมหภาค
อดิศักดิ์ ยังได้ยกตัวอย่างการนำข้อมูลเชิงลึกจากโปรเจกต์ไปสู่การสร้างนโยบายสาธารณะที่น่าสนใจ เช่น การพบว่าคนกรุงเทพฯ เข้างานสายกว่าเมืองอื่น อาจเป็นผลมาจากระยะทางการเดินทางและปัญหาการจราจร ซึ่งนำไปสู่แนวคิดเรื่อง ‘เมือง 15 นาที’ ที่ส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ภายในระยะเวลา 15 นาทีจากที่อยู่อาศัย เพื่อลดเวลาการเดินทางและเพิ่มคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ การศึกษาพฤติกรรมของผู้สูงอายุพบว่ามีการใช้ชีวิตจำกัดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัย ซึ่งสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง ทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง ‘เมืองเดินได้’ (Walkable City) ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
โปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data’ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก แต่ยังเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาสำรวจและทำความเข้าใจชีวิตในเมืองผ่านเว็บไซต์ที่ใช้งานง่าย มีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบภาพที่น่าสนใจ พร้อมทั้งมีแบบทดสอบ (Quiz) ให้ผู้เข้าชมได้ลองทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองก่อนที่จะไปสำรวจภาพรวมของเมือง
“ท้ายที่สุดแล้ว เราอยากชวนทุกคนมาคิดว่า แท้จริงแล้วเราออกแบบเมือง หรือเมืองออกแบบชีวิตเรา” อดิศักดิ์ ทิ้งท้าย “แม้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่สิ่งสำคัญคือเมืองและผู้คนต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน การทำความเข้าใจพลวัตของเมืองผ่านข้อมูลจึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเมืองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนอย่างแท้จริง”
–นักการตลาดดิจิทัลเผชิญความท้าทาย! ผลตอบแทนโฆษณาโซเชียลฯ ลดฮวบเกินครึ่ง เล็งขยายสู่ช่องทางใหม่