บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ประกาศความสำเร็จในปี 2567 ด้วยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่รับแรงหนุนจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าในตลาด ERCOT พุ่งทะยานเกือบ 2 เท่าในปี 2568 นอกจากนี้ BPP ยังสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CEAs) ในจีน เกือบ 90 ล้านบาท สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
สหรัฐฯ ดีมานด์ทะยาน ราคาไฟพุ่ง BPP รับทรัพย์
- โรงไฟฟ้า Temple I และ Temple II ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ พร้อมรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) จะอยู่ที่ 15-17% ภายในปี 2573 แรงหนุนสำคัญมาจากการลงทุนใน Data Centers ซึ่งรัฐเท็กซัสมีการเติบโตของ Data Centers ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ
- ราคาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าในตลาด ERCOT มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในปี 2568 สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานและดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น
- BPP ใช้มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา (Hedging Risk Management) โดยใช้เครื่องมือทางการเงิน (Financial Derivative) ส่งผลให้ในปี 2568 จะมีกระแสเงินสดที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้น 40% จากปี 2567
จีน คว้าชัยขายคาร์บอนเครดิต
- โรงไฟฟ้าของ BPP ในจีนสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CEAs) เกือบ 90 ล้านบาท ปริมาณประมาณ 290,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด
- สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าเกณฑ์
Renewables+ เติบโตต่อเนื่อง ลงทุน BESS และ Energy Trading
- BPP เร่งขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) มุ่งเน้นการลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่ (BESS) และการซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) เพื่อสร้าง New S-curve ให้กับบริษัท
- ลงทุนในโครงการ BESS เพิ่มเติมอีก 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Aizu (ไอสึ) และโครงการ Tsuno (ซึโนะ) กำลังการผลิตรวม 208 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2571
- โครงการ Iwate Tono กำลังการผลิต 58 เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีความคืบหน้า 99% เตรียมเปิด COD ในไตรมาส 2 ปีนี้
- ธุรกิจขายไฟฟ้า Energy Trading ในญี่ปุ่นมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม โดยมีการซื้อขายทั้งหมด 2,816 กิกะวัตต์-ชั่วโมง
- ในปี 2568 บ้านปู เน็กซ์ ซึ่ง BPP ถือหุ้น 50% ได้ร่วมกับโซลาร์บีเค จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อให้บริการโซลาร์รูฟท็อปสำหรับกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมในเวียดนาม ตั้งเป้าเฟสแรก 390 เมกะวัตต์
ผลการดำเนินงานปี 2567 แข็งแกร่ง
- BPP มีรายได้รวม 25,827 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,746 ล้านบาท
- มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานปกติ รวม 7,383 ล้านบาท
- รักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ในระดับต่ำเพียง 0.49 เท่า
ธุรกิจพลังงานความร้อน (Thermal Energy) ยังคงแข็งแกร่ง
- โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย ยังคงเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรักษาค่าความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) ในระดับสูงที่ 86% และ 90% ตามลำดับ
- จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมจากจำนวนชั่วโมงการผลิตตามสัญญา
- การดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHP) และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน จากการบริหารต้นทุนถ่านหินที่ดีขึ้น
ก้าวสู่ผู้นำพลังงานระดับโลก
อิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP กล่าวว่า “BPP ขับเคลื่อนการเติบโตตามแนวทางการดำเนินธุรกิจ Beyond Quality Megawatts โดยมุ่งมั่นบริหารพอร์ตโฟลิโอให้มีความสมดุลและครอบคลุมมากไปกว่าการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อมีความยืดหยุ่นในการหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต และสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว”
“ด้วยพอร์ตธุรกิจที่มีความหลากหลายและกระจายตัวอย่างสมดุลผ่านการดำเนินธุรกิจเชิงรุกใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ทั่วโลก ทำให้ BPP มีความสามารถปรับตัวรับมือกับภาวะวิกฤติต่างๆ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในแต่ละประเทศเพื่อส่งมอบคุณค่าและผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม พร้อมก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตพลังงานระดับโลก” อิศรา กล่าวทิ้งท้าย
–กลุ่ม ปตท. ผนึกพันธมิตรนำเข้าอีเทน เสริมศักยภาพธุรกิจปิโตรเคมี