มหาวิทยาลัยขอนแก่นเดินหน้านโยบายส่งเสริมการถ่ายทอด Technical Khow How จากมหาวิทยาลัย ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อนำออกสู่อุตสาหกรรม ด้วยการทำวิจัยและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้องค์ความรู้ชั้นสูง พร้อมทั้งออกแบบและผลิตเครื่องจักรที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมนั้นให้กับภาคเอกชนที่ต้องการนำไปผลิตและทำการตลาด เพราะเราเชื่อว่าภาคเอกชนมีความชำนาญมากกว่าที่เราจะทำเองทุกอย่าง มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ระดับโลก จึงได้คัดเลือกผู้ประกอบการประเทศมาเลเซียมาร่วมทุนก่อตั้ง Holding company ปุ๋ยน้ำนาโนซึ่งเป็นการถือหุ้นระหว่าง Lily Pharma จำนวนหุ้น 40% กับ Einstein Nanoscience Sdn. Bhd. จำนวนหุ้น 60% โดยจะตั้งโรงงานผลิตที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย
แนวคิดนี้จะทำให้ทางเราเน้น R&D ของปุ๋ยน้ำนาโนและผลิตเครื่องจักรเป็นหลัก ส่วนทางมาเลเซียจะเน้น เรื่องการผลิตและขยายการลงทุนไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะเราเชื่อว่าทีมงานของเขาสามารถพูดและเขียนได้ดีทั้ง มาเลย์ จีน และอังกฤษ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดหาบุคลากรที่มีความพร้อมในการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือจะทำให้มหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาดโลกได้อย่างจริงจัง
ทางด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงนโยบายการตั้งStartup แนวใหม่ เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าแบบเดิมว่า เราคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีความสามารถในด้านการจัดการและเข้าใจในเทคโนโลยี เช่น Biotech โดยการจัดตั้ง Holding company ที่ บ. มิสลิลลี่ จำกัด ถือหุ้น 51% มหาวิทยาลัยถือหุ้น 49% โดย Holding company นี้ จะไปจัดตั้งบริษัท Startup เพื่อดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดตั้งห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยโดยมีนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นผู้ทำงานวิจัยตั้งแต่ต้นจนออกสู่ผลิตภัณฑ์ ส่วนมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสนับสนุน ให้คำปรึกษาพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องมือต่างๆ และการทดสอบทางวิชาการ และเมื่อเราจะขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม ทางบริษัท Startup จะเป็นผู้วิจัยประดิษฐ์เครื่องจักรในการผลิตพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้นๆได้ทันที โดยที่เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทำงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมแบบสำเร็จรูป และเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องให้กับภาคเอกชน
รศ.นพ.ชาญชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า ความสำเร็จในโครงการปุ๋ยน้ำนาโน ปัจจัยหนึ่งมาจากเครื่อง Nano Homogenizer แบบอุตสาหกรรม ซึ่งถูกนำมาทำให้ Chitosan มีขนาดต่ำกว่า 100 นาโนเมตร โดยครั้งนี้ เราได้สร้าง Nano Homogenizer ขนาด 2,000 ลิตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่สุดในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ นอกจากนี้ โครงการปุ๋ยน้ำนาโน ยังสนับสนุนนโยบาย BCG economy ซึ่งเป็นการผลิตปุ๋ยน้ำนาโนที่ไม่มีของเสียหรือขยะ และช่วยปรับปรุงและลดความเป็นพิษในดิน ทำให้ปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน
ดร.นพรัตน์ อินทร์วิเศษ Chief R&D Officer ของ Lily Pharma กล่าวถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยเม็ดมีการสูญเสียธาตุอาหารไปในอากาศ น้ำ และ ดิน ซึ่งธาตุไนโตรเจน (N) ประมาณ 60-70% ส่วน ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) สูญเสียถึง 80% ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่ออากาศ น้ำ และ ดิน นอกจากนี้ ในการผลิตปุ๋ยยูเรียจำเป็นต้องใช้แอมโมเนีย ในการผลิตต้องใช้พลังงานสูงและมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จำนวน 1.8% ของปริมาณทั้งโลก (Royal Society) และการใส่ปุ๋ยยูเรีย จุลินทรีย์ในดินจะทำการย่อยแล้วทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ปล่อยขึ้นสู่อากาศประมาณ 312 ล้านเมตริกตันต่อปี (EPA greenhouse gas explorer) และทั่วโลกมีนโยบายที่จะลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20%
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงมีแนวคิดที่จะผลิตตปุ๋ยน้ำนาโนที่ลดการใช้ธาตุ N P Kและอยู่ในดินได้นานแม้อยู่ในสภาวะที่อากาศร้อนมาก โดยมี Nano Chitosan เป็นตัวอุ้มธาตุอาหารไว้ และพืชสามารถนำปุ๋ยน้ำนาโนไปใช้เมื่อต้องการ เราเรียกว่า On Demand Fertilizer ซึ่งจะแตกต่างกับปุ๋ยเม็ดแบบ Slow release ที่ปล่อยออกมาอย่างช้าๆ ตลอดเวลา แม้พืชไม่ได้ต้องการก็ตาม ดังนั้นเราจึงเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์สาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยเพื่อทดสอบการเจริญเติบโตของข้าวพันธุ์ มข-60-1 ระหว่างปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ของ Lily Pharma และปุ๋ยเม็ดยูเรียในแปลงทดลอง พบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ในอัตรา 0.66 Kg N/ไร่ สามารถส่งเสริมศักยภาพด้านลักษณะทางการเกษตร เช่น จำนวนหน่อต่อต้น ความสูงต้น ความยาวรวง ค่าดัชนีการเก็บเกี่ยว น้ำหนัก 1000 เมล็ด ขนาดเมล็ด และความหอมของข้าวไม่แตกต่างจากการใช้เม็ดปุ๋ยยูเรียที่ 9.2Kg N/ไร่ ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen น้อยกว่าปุ๋ยเม็ดยูเรียถึง 14 เท่า
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการทดสอบปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ของ Lily Pharma ต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ากัญชง พบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน น้อยกว่าปุ๋ยเม็ด สูตร 21-0-0 ที่ 0.5 เท่าหรือครึ่งหนึ่ง ทำให้ต้นกล้ากัญชงมีความสูง ความกว้างของใบ ความยาวใบ เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ค่าเฉลี่ยปริมาณคลอโรฟิลล์สูงกว่าการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ
นอกจากนี้ยังได้ทำการทดลองในผักสลัดเรดโอ๊คโดยใช้ระบบน้ำหยด ปลูกกลางแจ้งในเดือนมีนาคม 2567 พบว่าการใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ที่ความเข้มข้นต่ำกว่าปุ๋ยเม็ดสูตร21-0-0 ละลายน้ำ 15 เท่า ยังทำให้ต้นสลัดเรดโอ๊คมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ
ผู้ร่วมทุนจากประเทศมาเลเซีย Ng Kim Yun, CEO บริษัท Einstein Nanoscience Sdn Bhd ได้กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซีย “มาดานิ” ภายใต้นายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar เสนอความช่วยเหลือให้กับนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเต็มที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำนาโนนี้จะช่วยให้เกษตรกรสร้างรายได้ที่มากขึ้นเนื่องมาจากประสิทธิผลที่ดีและในราคาที่คุ้มค่า
Ng Kim Yun ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัท ของเขาซื้อ Khow how และร่วมลงทุนกับ Lily Pharma ซึ่งเราจะใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทั้งหมดจาก Lily Pharma ส่วนวัตถุดิบเกือบทั้งหมดจัดหาในประเทศมาเลเซีย เราจะผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K ครบวงจร รวมถึงธาตุอาหารเสริมที่ช่วยทำให้พืชแต่ละชนิดให้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000 ลิตรต่อวัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 20,000 ลิตรต่อวัน
เกี่ยวกับบทบาทของบริษัทร่วมทุน Ng Kim Yun บอกว่า เราได้ตกลงกับทางฝ่ายไทย ให้มาเลเซียเป็นบริษัทแม่หรือสำนักงานใหญ่ของธุรกิจนี้ ดังนั้น ทางมาเลเซียต้องมีหน้าที่ขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยทางฝ่าย Lily Pharma ทำหน้าที่ R& D และพัฒนาเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง การลงทุนโดยรวมในครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ MYR 10ล้าน และภายใน 3 ปี การลงทุนของกลุ่มเราจะอยู่ที่ประมาณ MYR 30 ล้าน
–NIA จับมือสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล โชว์นวัตกรรมแปรรูปขยะพลาสติก สู่น้ำมันแนฟทาครั้งแรกในไทย