ก้ม-ยกบ่อย เสี่ยงกระดูกสันหลังเสื่อม หมอวิมุต ชี้รักษาไม่หายขาด แนะป้องกันก่อนสายเกินแก้

ก้ม-ยกบ่อย เสี่ยงกระดูกสันหลังเสื่อม หมอวิมุต ชี้รักษาไม่หายขาด แนะป้องกันก่อนสายเกินแก้

ใครว่า “กระดูกสันหลังเสื่อม” เป็นภัยร้ายเฉพาะผู้สูงวัย? แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลวิมุต เผยพฤติกรรมเสี่ยงยุคใหม่ ทั้งก้มหน้ามองมือถือ ยกของหนัก สะบัดคอ ล้วนเร่งให้เกิดโรคร้าย ทำลายสุขภาพ แนะวิธีป้องกัน ดูแลตัวเองก่อนสายเกินไป

“โรคกระดูกสันหลังเสื่อม” ไม่ใช่แค่ปัญหาของผู้สูงอายุอีกต่อไป แต่กลายเป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้าหาคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ใช้ชีวิตแบบ “ก้มหน้า” ติดมือถือ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ หรือผู้ที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเผชิญกับภาวะ “กระดูกสันหลังเสื่อม” ก่อนวัยอันควร

นพ.วรายุทธ แสงสุวรรณ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า โรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือ ภาวะที่โครงสร้างของกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นตัวกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ข้อต่อ และเนื้อเยื่อเส้นเอ็น เกิดการสึกหรอ เสื่อมสภาพ คล้ายกับข้อเข่าหรือกระดูกส่วนอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นตามวัย แต่พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดโรคนี้ได้เร็วขึ้น เช่น

  • ยกของหนักเป็นประจำ ส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากเกินไป เกิดการสึกหรอ บาดเจ็บ และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
  • ก้มๆ เงยๆ บ่อยครั้ง เช่น ก้มหน้ามองมือถือ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ก้มเก็บของ ล้วนเป็นท่าทางที่เพิ่มแรงกด และความเครียดให้กับกระดูกสันหลัง เป็นสาเหตุของการเสื่อม
  • สะบัดคอ การสะบัดคอแรงๆ หรือบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสื่อมของข้อต่อ หมอนรองกระดูก และเนื้อเยื่อรอบๆ กระดูกสันหลัง
  • อุบัติเหตุ การบาดเจ็บรุนแรงที่กระดูกสันหลัง เช่น กระดูกหัก อาจทำให้กระดูกสันหลังส่วนอื่นต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  • การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง แม้พบได้ไม่บ่อย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกสันหลังได้

อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดความเสื่อม โดย

  • กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม อาจมีอาการปวดคอ ปวดร้าวไปที่แขน ชา อ่อนแรง เขียนหนังสือลำบาก ติดกระดุมเสื้อไม่ได้
  • กระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม อาจมีอาการปวดเอว ปวดร้าวลงขา ชา อ่อนแรง

ในรายที่รุนแรง อาจมีอาการเดินลำบาก ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

นพ.วรายุทธ ย้ำว่า “อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน หากปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา อย่าปล่อยให้โรคลุกลาม”

สำหรับการรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น การใช้ยา กายภาพบำบัด ฉีดยา และการผ่าตัด

  • ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • กรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดมาก อ่อนแรง หรือควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาการผ่าตัด เพื่อลดแรงกดทับเส้นประสาท หรือเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่านกล้องไมโครสโคป หรือกล้องเอนโดสโคป ช่วยลดความเจ็บปวด และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา นพ.วรายุทธ ฝากคำแนะนำในการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสะบัดคอ การยกของหนัก การก้มๆ เงยๆ บ่อยครั้ง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และพยุงกระดูกสันหลัง
  • ควบคุมน้ำหนัก ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากขึ้น
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และวิตามินดี
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อน ช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการปวดหลัง ปวดคอ หรืออาการอื่นๆ ที่บ่งชี้ถึงโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ควรรีบพบแพทย์

“โรคกระดูกสันหลังเสื่อม แม้จะทำให้ใช้ชีวิตยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข ขอเพียงรู้จักดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง หมั่นสังเกตความผิดปกติ และพบแพทย์เมื่อมีอาการ ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข” นพ.วรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย

เจาะลึก “ตรวจสุขภาพเชิงเวลเนส” เทรนด์ใหม่คนรักสุขภาพ ต่างจาก “ตรวจสุขภาพประจำปี” อย่างไร

Scroll to Top