กทปส. ชวน SMEs – Startup ไทย เสนอโครงการขอทุนต่อยอดธุรกิจ

กทปส. ชวน SMEs - Startup ไทย เสนอโครงการขอทุนต่อยอดธุรกิจ

สำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา หรือ กทปส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ให้ทุนกับผู้ประกอบการทั้งเอกชน และภาครัฐ ที่ต้องการเงินไปใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่ผ่านมานั้นผู้เข้ามาขอทุนส่วนมากจะเป็นหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล มูลนิธิ หรือสมาคม แต่ในปี 2565 นี้ กทปส. ตั้งเป้าชวน SMEs และ Startup ไทย เข้ามาเสนอโครงการเพื่อรับทุนไปทำงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับประเทศจนนำไปสู่การต่อยอดทางการค้าได้

สำหรับเงื่อนไขการขอทุนประเภทต่างๆ ดูได้ที่ btfp.nbtc.go.th

ชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา หรือ กทปส. กล่าวว่า ปี 2564 กทปส. มีการให้ทุนหลายประเภท สำหรับ ทุนประเภทที่ 1 เป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ในแต่ละปีจะมีการกำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ อย่างปี 64 ที่ผ่านมา ผลดำเนินงานโครงการประเภทที่ 1 มียื่นเข้ามา 113 โครงการ เป็นเงินพันกว่าล้านบาท แต่เรากำหนดกรอบวงเงินประเภทที่ 1 อยู่ที่ 400 ล้านบาท

ยักษ์ใหญ่ทยอยถอนตัวจาก CES 2022 ล่าสุด AMD และ MSI ถอนเพิ่มอีก
Metaverse ปี 2022 กับก้าวต่อไปของ Meta และการวิ่งตามเทคโนโลยีของประเทศไทย

ทุนประเภทที่ 2 ตั้งไว้ที่ 670 ล้านบาท เป็นลักษณะทุนยุทธศาสตร์ แบ่งเป็นสายย่อยๆ คือ เป็นภารกิจด้านโทรคมนาคม ภารกิจด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ การบริหารคลื่นความถี่ และภารกิจตามนโยบายของกรรมการบริหารกองทุน อีกส่วนหนึ่งคือทุนต่อเนื่อง ให้กับผู้ที่เคยได้รับทุนจาก กทปส. โดยเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา และทุนตามความตกลงของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในปี 64 เราใช้กรอบวงเงินคงเหลือของทุนประเภทที่ 2 ให้ทุนไปประมาณ 5-6 โครงการ เป็นเงินประมาณ 165 ล้านบาท

กทปส. ชวน SMEs - Startup ไทย เสนอโครงการขอทุนต่อยอดธุรกิจ

สำหรับกรอบวงเงินของปี 65 จะต่างจากปี 64 คือ ทุนประเภทที่ 1 กทปส. ไม่กำหนดกรอบวงเงิน เนื่องจากว่าหน่วยงานมีแผนแม่บทปี พ.ศ. 2563-2566 เมื่อถึงครึ่งทาง จะต้องมีการทบทวนแผนก่อน

สำหรับทุนประเภทที่ 2 กำหนดไว้ที่ 720 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเหมือนเดิมคือ ด้านธุรกิจคมนาคมกระจายเสียง ด้านการบริหารความถี่ และการตกลงของหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี 65 ได้เพิ่มด้านการตกลงของหน่วยงานภาครัฐเป็น 200 ล้านบาท และในส่วนของภารกิจด้านโทรคมนาคม ภารกิจด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ อย่างละ 150 ล้านบาท และมีทุนต่อเนื่องอีก 30 ล้านบาท

ส่วนทุนประเภทที่ 3 ยังไม่กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ เพราะเป็นพื้นที่เกิดจากสถานการณ์เร่งด่วน เช่น จากโควิด-19 ซึ่งปีที่แล้วก็มีการอนุมัติเงินไป 642 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการให้ตามวัตถุประสงค์ เช่นการทำห้องความดันลบ การติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อช่วยสถานการณ์โควิด-19

กองทุนประเภทที่ 4 จะให้ไปที่กองทุนสื่อ มีงบประมาณปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งแต่ละสื่อก็มีวิธีการบริหารจัดการของตัวเอง

ตั้งเป้าชวน SMEs – Startup 80 ราย

ชาญวุฒิ กล่าวว่า ความท้าทายของการทำงานปี 65 คือการชวน SME และ Startup มาขอทุน เพราะในข้อกฎหมายสามารถให้ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ยื่นเข้ามาขอทุนเลย

ล่าสุดกทปส. ได้ติดต่อกับ SME Bank เพื่อทำความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งในเบื้องต้นทาง SME Bank ได้ผ่านบอร์ดพิจารณาในเรื่องหลักการทั่วไปแล้ว ส่วนทาง กทปส. ได้ผ่านบอร์ดบริหารกองทุนเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือต้องกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับ SME Bank และสมาพันธ์ SME และ สมาคม Startup รวมถึง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร ก่อนนำเข้าอนุยุทธศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นเบื้องต้นอยู่ที่การกำหนดขั้นตอน คุณสมบัติ วิธีการ และขั้นตอนการให้ทุน ซึ่งทางผู้ใหญ่อาจจะมองว่า การที่ธนาคารให้สินเชื่อจะได้เงินต้นคืนมา แต่การให้ทุนเป็นการให้เปล่า ซึ่งจะต้องรัดกุม และดูต้นแบบจากหน่วยงานที่เคยให้เงินต่างๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรัดกุมตามวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่น่าจะเกินเดือนกุมภาพันธ์ 65 จะสามารถเข้าคณะยุทธศาสตร์เรื่องของหลักเกณฑ์ทั่วไปให้จบ

เมื่อถามว่ากทปส. แตกต่างจาก depa และ NIA อย่างไร ชาญวุฒิ อธิบายว่า การให้ทุนของกทปส. จะไม่ทับกับหน่วยงานอื่น เพราะจะมีระบบมาเช็คว่าโครงการไหนซ้ำ ก็จะไม่ให้ทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ การให้ทุนกับ SMEs – Startup จะให้ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะกทปส. มีข้อกฎหมาย เช่น ให้ในเรื่องของการสนับสนุนบริการเข้าถึงโทรคมนาคมกระจายเสียงและโทรทัศน์ 2 คือด้านการวิจัยและพัฒนา 3 คือด้านการพัฒนาคนตามกิจการโทรคมนาคมกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ในการให้ทุนนั้นจะแตกต่างกัน

กทปส. ชวน SMEs - Startup ไทย เสนอโครงการขอทุนต่อยอดธุรกิจ

“ปี 65 เรามีเป้า รับ SMEs และ Startup ประมาณ 80 ราย เข้ามาบ่มเพาะ และคัดเหลือประมาณ 30 รายที่ได้เงินไป ส่วนที่เหลือก็จะได้ความรู้ไป โดยเราจะทำโครงการ Accelerate Academy ขึ้นมาใหม่ โดยมี SME Bank เข้ามาดำเนินการ”

ซึ่ง SME Bank เขามีฐานลูกค้า และมีผู้ประกอบการที่พร้อมอยู่แล้ว รวมถึงเรามีสมาพันธ์ SME และ สมาคม Startup ที่จะเป็นผู้ประสานให้ทั้งหมด

กทปส. ปรับหลักเกณฑ์ สร้างแรงจูงใจผู้ขอทุน

เมื่อถามว่าจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้ผู้ประกอบการอยากเข้ามาขอทุน ชาญวุฒิ อธิบายว่า หลังจากเกิดเหตุโควิด-19 ผ่านมา 2 ปี การสร้างการรับรู้ข่าวสารการประชาสัมพันธ์ลดลงไป อนุกรรมการบางท่านอยากจะให้ออกบูธประชาสัมพันธ์ ในอดีตกทปส. เคยออกประชาสัมพันธ์ 4 ภาค ให้ความรู้เกี่ยวกับการให้ทุน

ส่วนของราชการ ในอดีตจะให้เงินตรงไปที่ผู้ขอทุนเลย แต่ปัจจุบันจะให้ผู้ขอทุนกำหนดหัวข้อ Terms of Reference (TOR) มา และมาผ่านการกลั่นกรองของคณะต่างๆ หลังจากอนุมัติ ก็จะประกาศออกไป และหาผู้ที่เหมาะสมมาทำงานให้กับหน่วยราชการ ซึ่งหลังจากเปลี่ยนหลักเกณฑ์มาเป็นให้แบบ TOR มีผู้สนใจสมัครเข้ามา 20 กว่ารายแล้ว คาดการณ์ว่าปีหน้า ในส่วนของการทำความตกลงกับภาครัฐ ที่กำหนดกรอบไว้ 200 ล้าน อนุมัติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว

“ซึ่งการขอทุนกับเรา ผู้รับจะต้องแจงรายละเอียดเป็นรายโครงการว่าต้องใช้จำนวนเงินเท่าไร ใช้เงินไปเท่าไร เหลือเงินเท่าไร ซึ่งข้อกำหนดของกองทุนคือถ้ามีเงินเหลือจะต้องส่งคืนทางของทุน ไม่ได้หมายความว่าให้เงินไปแล้วใช้ไม่หมดแล้วไม่ต้องคืน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะมีผู้สอบเข้ามารับรองรายการ และเซ็นรับรองการใช้เงินทั้งหมด ทั้งนี้การให้เงินของเราไปนั้นไม่ได้เป็นการถือหุ้น แต่เป็นการให้เปล่า”

กับภาคเอกชน อาจจะมีหลักเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ในอนาคตทางกทปส. กำลังจะปรับหลักเกณฑ์ผ่าน พ.ร.บ. ใหม่ปี 2564 ที่กำลังนำเสนอกับกรรมการบริหารกองทุน ว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปในเรื่องของการเป็นเจ้าของที่เอกชนจะได้ไป ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และจะต้องเข้าอนุกรรมการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี 65 เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาจะมีทิศทางที่ดีขึ้นตาม พ.ร.บ. ใหม่ที่ออกมา และน่าจะเริ่มใช้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565

“ซึ่งที่ผ่านมา Startup ไม่เข้ามาขอทุนเพราะส่วนหนึ่งอาจจะกังวลเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์ อีกส่วนหนึ่งคือหน่วยงานของเรายังไม่ได้ถูกรู้จักในวงกว้าง จึงมีแค่ มหาวิทยาลัย มูลนิธิและสมาคม หน่วยงานราชการ แต่บริษัททั่วไปที่เป็นเอกชนเขายังไม่ทราบว่าเราเปิดให้ทุน”

กทปส. ชวน SMEs - Startup ไทย เสนอโครงการขอทุนต่อยอดธุรกิจ

ปีหน้ากทปส. มีเป้าจะสนับสนุนทั้งหมดในกรอบที่ตั้งเอาไว้ แต่ปัจจัยมันมีมาก เพราะมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการกลั่นกรอง กทปส. เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งจะต้องระวังในการพิจารณาให้เงิน การตรวจสอบคุณสมบัติ ตรวจข้อมูล จัดลำดับความสำคัญ จากนั้นต้องไปผ่านกรรมการให้คะแนนโครงการที่เข้ามา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และพิจารณาว่าจะให้ทุนหรือไม่ ดูแนวโน้มว่าโครงการจะทำได้หรือไม่ ซึ่งผู้ขอทุนก็จะต้องมีความพร้อมในด้านการทำโครงการ มีความยั่งยืน ขอบเขตถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ชาญวุฒิ กล่าวในตอนท้ายว่า ส่วนตัวอยากเห็นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมโดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะมันมีมูลค่าเพิ่ม นำไปต่อยอดได้ และมีประโยชน์กับประเทศไทย ที่ผ่านมาโครงการด้านการรักษาทางไกล (Tele Medecine) ก็ได้เงินสนับสนุนไปหลายโครงการ กับหลายโรงพยาบาล ในช่วงวิกฤตโควิด-19

“การพัฒนาประเทศ สามารถใช้ช่องทางของกองทุนเป็นส่วนหนึ่งได้ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา โครงการที่ทำออกมาสำเร็จถ้ามีการระดมทุน มีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะทำให้เราลดการขาดดุลการค้าที่ต้องสั่งสินค้ามาจากต่างประเทศได้”

Scroll to Top