Biztalk พาทุกคนมาดูการเดินทางของสิ่งที่เรียกว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่หลาย ๆ คนเรียกสั้น ๆ ว่า E-Waste นั่นแหละค่ะ
เพื่อน ๆ ทราบมั้ยคะว่า ในแต่ละปีเนี่ย มนุษย์โลกเราสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 57.4 ล้านตัน และยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน เทียบเท่ากับหอไอเฟลถึง 4500 หอ และยังมีคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2030 ว่าจะเพิ่มสูงถึง 74 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว แต่ที่น่าตกใจก็คือ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์กองโตเป็นภูเขานี้ มีแค่ 17.4% เท่านั้นที่ถูกรวบรวมและรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
สำหรับประเทศไทยเองปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งหากไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ภายใน 5-10 ปี ไทยอาจเดินทางเข้าสู่ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ ปัญหาก็คือในขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ จะมีปรอท ตะกั่ว สารอันตรายและโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ถ้านำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ บรรดาสารเคมีที่อยู่ในขยะเหล่านี้ก็จะปนเปื้อนลงในดิน แหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิต ทั้งคน พืช และสัตว์ ทำลายระบบประสาท ระบบโลหิต การทำงานของไต ระบบสืบพันธุ์
แต่ถ้าเอาไปเผา นอกจากจะมีกลิ่นเหม็นไหม้ ก่อให้เกิดก๊าซพิษต่าง ๆ มากมาย ที่หากสูดดมเข้าไปมากๆ อาจสะสมในร่างกาย จนเกิดอันตรายได้อีกด้วย
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องอันตรายที่เกิดจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกวิธี และพยายามสร้างจุดรับทิ้ง E-Waste เพื่ออำนวยความสะดวกในการคัดแยก E-Waste ออกจากขยะทั่วไป แต่เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า เมื่อเจ้า E-Waste ที่เราคัดแยกฝากทิ้งลงกล่องไปนั้น พวกมันจะถูกส่งไปที่ไหน ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่
เราเริ่มต้นกันที่จุดรับทิ้ง E-Waste ที่ศูนย์บริการเอไอเอส ช้อป เราก็จะเห็นน้องๆ นำ E-Waste มาทิ้งลงกล่องที่ตั้งไว้รองรับ ซึ่งต้องบอกว่า กล่องรับทิ้งขยะ E-Waste แบบนี้ไม่ได้มีที่ศูนย์บริการเอไอเอส เท่านั้น แต่ยังมีตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคาร แม้แต่ที่ทำการไปรษณีย์ ก็มี รวมแล้วก็มากกว่า 2,700 จุด แต่ถ้าใครไม่สะดวกเดินทางจะวานพี่ไปรษณีย์ไปรับถึงหน้าบ้านก็ได้เช่นกันจ้ะ
เวลาเอาขยะมาทิ้งที่จุดรับทิ้ง ก็จะมีด้วยกัน 2 วิธี
วิธีแรก ก็คือ นำ E-Waste ของเรามาหย่อนลงกล่องรับทิ้งเลยง่ายมาก ๆ แต่ถ้าเป็นขยะมือถือเก่า แทปเล็ตเก่า ก็อย่าลืมลบข้อมูลออกจากเครื่อง และถอดเมมโมรี่ การ์ด ออกเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลด้วยนะจ๊ะ อ่อ อีกอย่างสำคัญมาก ถ่านไฟฉาย ต่าง ๆ บอกเลยไม่ใช่ E-Waste นะจ๊ะ นั่นมันขยะอันตราย มีคนเข้าใจผิดเยอะมาก บอกเพื่อนๆ เลยว่าถ่าน หรือแบตพวกนี้ต้องเอาไปทิ้งที่จุดรับทิ้งขยะอันตรายจะดีกว่านะคะ
มาดูวิธีที่ 2 กันบ้าง วิธีนี้แนะนำเลยเพราะจะทำให้เรารู้ว่า E-Waste ที่เราทิ้งไปนั้นถูกจัดการอย่างถูกต้องจริงมั้ย ทำยังไง ป่ะ เริ่ม!!
ก่อนอื่นให้เพื่อน ๆ ดาวน์โหลดและลงทะเบียนแอปพลิเคชั่น E-Waste Plus โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ เครือข่ายไหนก็ได้นะ แล้วกดค้นหาจุดทิ้งขยะ E-Waste จากนั้นกดสร้างถุงขยะ เลือกรายการขยะแต่ละประเภท ให้ตรงกับประเภทขยะที่เรานำมาทิ้ง ระบบจะบอกหมายเลขถุงขยะของเรามาให้ในแอปฯ ให้เราเขียนหมายเลขถุงขยะ พร้อมกับถ่ายรูปขยะที่เราเอามาทิ้ง จากนั้นนำขยะและหมายเลขถุงขยะแพ็กใส่ถุง ตรวจสอบความถูกต้อง และนำส่งที่จุดทิ้งขยะตามที่ระบุในแอปพลิเคชันได้เลย แค่นี้ก็รอรับ Carbon Scores เป็นคะแนนที่ดีต่อใจ เมื่อได้เห็นว่าเราได้ช่วยลดคาร์บอนได้ในปริมาณเท่าไหร่เมื่อเทียบกับการปลูกต้นไม้ และในอนาคต Carbon Scores นี้จะพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตมีมูลค่าเข้าไปอีก
หลังจากศูนย์บริการแต่ละแห่งรวบรวม E-Waste ที่พวกเรานำไปฝากทิ้งเรียบร้อย ก็จะถูกส่งผ่านไปรษณีย์ ไปยังโรงงานคัดแยก และกำจัดขยะ E-Waste ที่ได้มาตรฐาน
และเมื่อ E-Waste ถูกนำส่งมาถึงบริษัทบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด (WMS) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดการขยะ และของเสียทุกประเภทอย่างครบวงจร ก็จะถูกนำเข้ากระบวนการคัดแยกชิ้นส่วนตามชนิดของวัสดุ และนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นี่เป็นการเดินทางของ E-waste ที่เราตามมาดูในวันนี้ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจและความใส่ใจของคนไทย ในการคัดแยกและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่พบว่า ปริมาณ E-waste ที่มีคนนำมาทิ้งลงกล่องมีเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า คนเริ่มเข้าใจแล้วว่า E-waste ควรได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล หรือที่เราเรียกกันว่ามลพิษดิจิทัลหรือ Digital Pollution
การเดินทางของเราในวันนี้ แม้จะเป็นแค่ One Day Trip ที่ให้เราตามมาดูเส้นทางของ E-waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ว่า กระบวนการขั้นตอนทำกันอย่างไร มีมาตรฐานอย่างไร และ ถูกส่งไปกำจัดอย่างไม่ อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้สึกโล่งใจได้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นมา จะมีที่ไปที่เหมาะสม และ สามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจได้ใหม่ โดยไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้าย เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จะสามารถพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ เสียที ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกคนที่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ
–Thailand Golf & Dive Expo plus OUTDOOR Fest 2024 กระตุ้นท่องเที่ยว