การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 68,000 ล้านบาท ของรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นหมากก้าวสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจในช่วงเวลายากลำบากนี้ ที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยไปอ่อนแรงโรยรินไปทุกขณะ ด้วยภาคการท่องเที่ยวที่ยังกลัวยอดผู้ติดเชื้อจะกลับมาแพร่ระบาด แม้ทางการแพทย์จะบอกว่าพร้อมรองรับแค่ไหนก็ตาม ส่วนภาคส่งออกที่เหมือนจะฟื้นตัว แต่ก็ยังต้องประสบกับอุปสรรคทั้งต้นทุน กฎหมาย จนภาคเอกชนก็ยังร้องระงมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ
.
มาตรการนี้ จึงอาจเป็นหมากชี้เป็นชี้ตายของภาครัฐ ด้วยจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจประสบกับความยากลำบากมากขึ้น คนตกงาน ปากท้องเริ่มมีปัญหา วันนี้จึงมีบทวิเคราะห์หนึ่งที่น่าสนใจ จากมุมมองคมความคิดของคุณประกิต สิรัวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ที่มองว่า มาตรการล่าสุดของรัฐบาลที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การกระตุ้นการใช้จ่าย ถูกวางโครงสร้างไว้เป็นชุดมาตรการอยู่ก่อนแล้ว เชื้อว่ามาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอดีตแม่ทัพเศรษฐกิจคนก่อนอย่างรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับทีม 4 กุมาร
.
มาตรการที่เห็นส่วนใหญ่จึงเป็นการต่อยอดจากเดิม เช่น ชิมช้อปใช้ เที่ยวด้วยกัน ไม่ได้มีความแปลกใหม่อะไรให้หวือหวานัก แต่ที่สำคัญคือของมาตรการนี้ “ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” จะทำได้ก็เพียง “พยุงเศรษฐกิจ” เท่านั้น ดูได้จากอะไรบ้าง
.
เริ่มแรกจะต้องใช้มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนก่อน 50% เพื่อบรรเทาปัญหาในสังคม นั่นคือการที่รัฐจะให้เงินสนับสนุน (ไม่ใช่การแจก เพราะไม่ได้ให้เปล่า) รวมถึงเป็นการทยอยให้แบบมีการกำหนดเกณฑ์ว่าแต่ละวันจะให้ได้เท่าใด ไม่ใช่การให้ครั้งเดียว
.
จากนั้นก็ต้องทำให้ความรู้ในสึกในภาพรวมเศรษฐกิจเกิดความคึกคักขึ้นมา ทำอย่างไรจะมีเงินลงไปในระบบได้เร็วที่สุด… เราจึงเห็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวออกมาเพิ่ม ด้วยรอบแรกที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ก็เลยใช้วิธีขยายข้อจำกัด เพิ่มจำนวนวัน เพื่อให้ประชาชนที่ยังมีกำลังทรัพย์นำเงินไปใช้จ่ายกันเอง
.
ถัดมาในก้าวต่อไป เมื่อเอสเอ็มอีพอมีกำลังใจเกิดขึ้นบ้างจากมาตรการกระตุ้น แต่ภายในธุรกิจก็แบกต้นทุนอันหนักอึ้งสวนทางกับรายรับที่น้อยลงทุกวัน รัฐบาลจึงงัดมาตรการ “ส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่” ที่ช่วยจ่ายค่าจ้างผู้ประกอบการ 50% เพื่อลดภาระต้นทุนได้ เรื่องนี้ถือว่ายิงปืนนัดเดียว ได้นกถึง 2 ตัว ปัญหาตัวที่หนึ่ง คือ มีคนตกงานจำนวนมาก รัฐต้องให้เกิดการจ้างงานเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่น ปัญหาตัวที่สอง คือ นักศึกษาจบใหม่จะเข้ามาในระบบอีก 300,000-400,000 คน ฉะนั้นถึงว่าทุเลาปัญหาได้ถึงสองเปราะ
.
เมื่อผนวกรวมกันกับมาตรการก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของแบงก์ชาติ มาตรการพักหนี้ หยุดภาระให้คนได้หายใจหายคอก่อน แล้วตามด้วยมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ออมสิน กรุงไทย ให้คนยังพอประคับปะครองกันไปได้ ร่วมแรงกับมาตรการใหญ่แจกเงิน 5,000 บาท แม้ว่าภาพปัญหาต่างๆจะออกมาอย่างทุลักทะเลก็ถือว่าทีมเศรษฐกิจชุดอาจารย์สมคิดวางหมากมาอย่างเป็นระบบแล้ว ด้วยงบประมาณจำกัดจำเขี่ยและการทำงานที่กระท่อนกระแท่น ก็ยังผุดชุดมาตรการออกมาได้แบบน่าสนใจ
.
แต่ปัญหาสำคัญที่แท้จริงของรัฐบาลตอนนี้ กำลังคืบคลานมาในระยะต่อไป เพราะเมื่อใดที่แพ็คมาตรการของทีมเศรษฐกิจชุดก่อนหมดลง รัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อในวันที่ขุนคลังยังไม่ปรากฎตัว การเมืองขย่มรุนแรงขึ้นทุกวัน แม่ทัพเศรษฐกิจคนใหม่ที่ชื่อ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ยังไม่ได้โชว์ฝีไม้ลายมืออย่างเป็นชิ้นเป็นอัน
